เด็กยุคนี้พ่อแม่มักเลี้ยงแบบตามใจมาก รักปานแก้วตาดวงใจ มีดาวกับเดือนเท่านั้นที่พ่อแม่หาให้ลูกไม่ได้ หากแต่ทุกสิ่งบนโลกนี้ไม่ได้ถูกกำหนดได้ด้วยพ่อกับแม่ ทั้งสองไม่สามารถสยายปีกปกป้องลูกได้ตลอดเวลา ลูกจะต้องเติบโตและเผชิญกับปัญหาบ้าง ดังนั้น ควรให้เขาเผชิญกับความผิดหวังเสียบ้าง

เด็กบางคนเมื่อเกิดความเสียใจจะรับสภาพไม่ค่อยได้ เกิดอาการร้องไห้ฟูมฟาย ขนาดพ่ายแพ้ในการแข่งขันกีฬาซึ่งสอนให้ผู้เล่นรู้จักแพ้รู้จักชนะก็ยังทำใจไม่ได้ง่ายๆ ปฏิกิริยาของเด็กที่จะต้องรับมือกับ “ความพ่ายแพ้” หรือ “ผิดหวัง” ไม่ได้ พวกเขาจะเกิดอาการหงุดหงิด ไม่พอใจ ร้องไห้ฟูมฟาย พูดอธิบายเท่าไหร่ก็ไม่ฟัง โกรธคนอื่น แต่บางคนก็ซึมเศร้าไม่พูดกับใคร แอบร้องไห้ และพานจะล้มเลิกความตั้งใจที่จะคว้าชัยชนะเสียเฉยๆ

ซึ่งหากลูกๆ ตกอยู่ในสภาวะแบบนี้ คุณพ่อคุณแม่จะรับมืออย่างไรดี?

กรณีศึกษา : ด้วยความเป็นพ่อเป็นแม่ก็อยากให้ลูกมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ก็สนับสนุนให้เรียนว่ายน้ำ และการลงแข่งขันในสนามต่างๆ ก็ตามมา มีอยู่ครั้งหนึ่งเมื่อลูกชายวัย 6ขวบ แพ้ในการแข่งขันว่ายน้ำ 100เมตร สังเกตลูกเศร้ามาก โทษและงงกับตัวเองว่าทำไมจึงแพ้เพื่อน พานจะไม่ขึ้นรับรางวัลเหรียญเงินในการแข่งขันครั้งนั้น

พ่อแม่ต้องพูดอธิบายปลอบใจกันยกใหญ่ นี่แค่การแข่งขันเล็กๆ ของเด็กๆ หากลูกโตไป ต้องเจอกับการแข่งขันอื่นๆ เช่น สอบเข้าโรงเรียนไม่ได้ ซึ่งอาจเกิดความเสียใจมากกว่านี้หลายเท่า แล้วลูกของเราจะรับความผิดหวังได้หรือไม่

การแก้ไขปัญหา : ในฐานะเป็นพ่อแม่ อย่ากลัวปัญหาที่ลูกจะต้องเผชิญเมื่อเขาเติบโตขึ้น เพราะธรรมชาติของมนุษย์ต้องเจอปัญหาอยู่แล้วไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ เช่น ปัญหาต่อความไม่เข้าใจในบทเรียน สอบแข่งขันในการสอบแล้วได้อันดับท้ายๆ หรือโดนเพื่อนแกล้ง ลูกก็ต้องทำใจยอมรับกับมันให้ได้ โดยมีปีกของลูกคือพ่อและแม่คอยให้คำแนะนำ เช่น เมื่อเขาต้องเผชิญกับปัญหา มีความทุกข์ใจกลับมา ผู้ปกครองก็ต้องคอยปลอบ ให้ลูกได้พูดระบาย อย่าแสดงความโมโหโดยใช้วิธีรุนแรง หรือแสดงออกว่า ลูกข้าใครอย่าแตะ เมื่อลูกโดนเพื่อนแกล้ง ก็จะไปแก้แค้นเพื่อนแทนลูก หรือไปโวยวายที่โรงเรียน เพราะสิ่งเหล่านี้หากทำจะเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีแก่ลูก

หนทางที่ดีคือ อาศัยการพูดคุย ถามถึงต้นตอของปัญหา แล้วมาช่วยกันหาทางออกหรือวิธีแก้ไขยามเมื่อเขารู้สึกสบายใจขึ้น ฝึกให้ลูกได้คิดได้ลองแก้ปัญหาเอง ถ้าลูกแก้ไม่ได้จริงๆ ถึงคราวคุณพ่อคุณแม่ต้องช่วยแก้ไขด้วยวิธีเจรจา เช่น ไปพูดคุยกับผู้ปกครองของเพื่อนลูก รายงานอาจารย์เพื่อไม่ให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีก หากลูกไม่เข้าใจวิชาไหนก็ส่งลูกไปเรียนพิเศษเพิ่มเติม เรื่องการเล่นกีฬาก็เหมือนกัน ในการแข่งขันต้องมีคนแพ้และชนะ ต้องสอนลูกว่าความพ่ายแพ้ไม่ใช่สิ่งไม่ดี แต่แพ้วันนี้เพื่อจะชนะวันหน้า ความพ่ายแพ้บางครั้งก็สอนอะไรเราหลายๆ อย่าง เช่น ชีวิตต้องตั้งอยู่บนความไม่ประมาท วันนี้แพ้ วันหน้าก็ชนะได้ เป็นเรื่องธรรมดาของโลก ลูกคิดว่าเรื่องแพ้ในการว่ายน้ำเป็นเรื่องใหญ่ แต่หากลูกโตไปแล้วมองย้อนกลับมา ลูกก็จะรู้ว่าปัญหาที่ลูกเจอในวันนี้เล็กนิดเดียว เทียบไม่ได้เลยกับปัญหาที่ลูกจะต้องเผชิญในวันข้างหน้า ปัญหาทุกปัญหามีไว้ให้แก้ ฝึกและหัดให้ชินกับปัญหาแต่ละปัญหา และเรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาไป เพื่อลูกจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่แข็งแกร่ง

ที่มา : talkaboutsex.thaihealth.or.th