หลังกรมสุขภาพจิตได้สำรวจเด็กในปี 2559 พบว่า เด็กไทยป่วยเป็นไฮเปอร์เทียมกว่า 4 แสนคน หรือประมาณ 2-3 คนต่อห้องเรียนที่มีเด็ก 40-50 คน และมักพบในเด็กชายมากกว่าเด็กหญิง ซึ่งแพทย์ได้นิยาม ‘ไฮเปอร์เทียม’ ไว้ว่า มีอาการคล้ายคนเป็นโรคไฮเปอร์ แต่ยังไม่ถึงขั้นป่วย เป็นเพียงอาการที่แสดงออกเหมือนโรคสมาธิสั้น ซึ่งเกิดจากการที่พ่อแม่ปล่อยให้เด็กจดจ่อกับสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตเพื่อไม่ให้เด็กซน แต่ถ้าหากปล่อยไว้นาน ‘ไฮเปอร์เทียม’ สามารถพัฒนาความรุนแรงได้ ทางที่ดีควรแก้ไขตั้งแต่เนิ่นๆ

5 พฤติกรรมเสี่ยงว่าลูกของคุณกำลังเข้าข่าย
1. เด็กแสดงอาการไม่พอใจเมื่อถูกพ่อแม่ห้ามไม่ให้เล่น หรือถูกเปลี่ยนที่เก็บโทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ตจนพวกเขาหาไม่เจอ
2. แอบเล่นโทรศัพท์มือถือในสถานที่แปลกๆ เพื่อไม่ให้พ่อแม่เห็น หรือแอบเล่นใต้ผ้าห่มหลังจากที่พ่อแม่ปิดไฟเข้านอน
3. ไม่สนใจสิ่งรอบตัว เรียกแล้วไม่ขาน บางครั้งเปิดสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตทิ้งไว้ระหว่างทำงานอื่น
4. แสดงความก้าวร้าว อารมณ์เสีย หงุดหงิด ไม่เอาใคร แต่เมื่อได้เล่นโทรศัพท์มือถือแล้วอาการจะหายไปทันที
5. ถามถึงโทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ตเป็นอย่างแรกที่ตื่นนอน ก่อนนอน หรือหลังกลับจากโรงเรียน

ทางแก้ของปัญหาเด็กติดจอ
มีการส่งเสริมให้เด็กได้เรียนรู้ เล่น เลอะนอกบ้าน นาน 60 นาทีต่อวัน เพื่อพัฒนาการที่ดีของเด็กรอบด้าน ไม่ว่าจะความแข็งแรงทางกาย ความคิด จินตนาการ และทักษะการอยู่ร่วมกับผู้อื่น

เล่นให้ได้ประโยชน์ ต้องเล่นนอกบ้าน
หากเด็กมีพฤติกรรมเข้าข่าย สิ่งที่ผู้ปกครองควรทำคือจำกัดระยะเวลาเข้าถึงอุปกรณ์ไฮเทคให้เหลือเพียง 30 นาที ไม่เกิน 1 ชั่วโมงต่อวัน ส่วนเด็กที่อายุต่ำกว่า 3 ขวบไม่ควรปล่อยไว้กับหน้าจอมือถือเลย รวมถึงส่งเสริมให้เด็กทำกิจกรรมอื่นนอกบ้าน เน้นกิจกรรมออฟไลน์ที่คุณหมอและผู้เชี่ยวชาญยืนยันว่า ‘สามารถเสริมสร้างพัฒนาการเด็กได้อย่างรอบด้าน


เล่นเลอะ = การเรียนรู้
นอกจาก EQ และ IQ แล้ว เรายังมี Play Q หรือความฉลาดทางการเล่น ซึ่งจัดเป็นบันไดขั้นแรกสุดในการพัฒนาเด็ก อันประกอบไปด้วยความสามารถทางกาย ความคิด จินตนาการ และทักษะการอยู่ร่วมกับผู้อื่น หลังกระทรวงสาธารณสุขและบริการประชาชนของอเมริกาแนะนำว่า เด็กควรเล่นกิจกรรมกลางแจ้งนาน 60 นาทีต่อวัน ไม่ว่าจะเป็นการเล่นทรายที่ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงให้แขน นิ้วมือ หรือไหล่ จากการที่เด็กต้องตัก ขุด ยก หรือกำทรายในมือ รวมถึงการจุดประกายจินตนาการของเด็กให้สร้างสรรค์ผลงานประหนึ่งศิลปินตัวน้อย หรือสนับสนุนให้เด็กฝึกระบายสีในสวนสาธารณะ หรือคว้าเอาใบไม้และดอกไม้แห้งมาตัดแปะบนกระดาษก่อนระบายสีทับ เพื่อให้ได้งานศิลปะที่ไม่เหมือนใคร เช่นเดียวกับการปีนป่ายในสนามเด็กเล่นที่ฝึกให้เด็กเคลื่อนไหวร่างกายไปยังทิศทางต่างๆ ฝึกไหวพริบและการแก้ปัญหา อีกทั้งกิจกรรมเหล่านี้ยังช่วยเพิ่มทักษะการเข้าสังคมกับเพื่อนวัยเดียวกัน ทำให้เด็กรู้จักการแบ่งปัน มีน้ำใจ มีความอดทน และควบคุมอารมณ์ได้ดี ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นคุณสมบัติสำคัญที่ทำให้เด็กคนหนึ่งพร้อมเผชิญหน้ากับทุกอุปสรรคที่ถาโถมเข้ามาในอนาคต

อย่ากลัวที่เด็กๆ จะมอมแมมกลับบ้าน
จะเห็นได้ว่าหนทางแก้ปัญหาเด็กติดจอไม่ได้ยากอย่างที่คิด เพียงแต่ผู้ปกครองต้องเปิดโอกาสให้เด็กออกไปรู้จักโลกภายนอก แทนที่จะหมกมุ่นอยู่ในห้องสี่เหลี่ยม และขอเสริมว่าหากอยากให้เด็กได้ประโยชน์เต็มที่จากการเล่นนอกบ้าน แนะนำว่าควรมองหากิจกรรมที่เด็กชอบและอยากมีส่วนร่วมจริงๆ อย่าพยายามฝืนใจให้เด็กทำในสิ่งที่เขาไม่ชอบ หรือต่อว่าหากเด็กเล่นสนุกจนตัวเลอะเทอะมอมแมม เพราะการเรียนรู้ของเด็กย่อมเกิดจากอิสระในการทำสิ่งต่างๆ เพื่อให้พวกเขาค้นหาสิ่งที่ชอบ ก่อนเติบโตไปเป็นอนาคตของชาติที่มุ่งมั่นและมีคุณภาพ

 

ที่มา : https://thestandard.co