คุณหมอ เจ้าของ Facebook Page เข็นเด็กขึ้นภูเขา ได้เขียนอธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า เด็กๆ อาจจะมีทักษะในการใช้เทคโนโลยีเก่งกว่าผู้ใหญ่ แต่ทักษะชีวิตประสบการณ์ต่างๆ ก็ยังน้อยอยู่ ทำให้บ่อยครั้งที่จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นพบคนไข้ที่มาด้วยผลกระทบจากการเล่นอินเทอร์เน็ตโดยความไม่รู้เท่าทัน เช่น ติดอินเทอร์เน็ต ติด Shopping ออนไลน์ ติดพนันออนไลน์ เกิดวิตกกังวล เครียด ซึมเศร้า จากการใช้งานอินเทอร์เน็ตผิดวิธี หรือถูกแกล้งในอินเทอร์เน็ต ซึ่งพบคนไข้เหล่านี้บ่อยขึ้นเรื่อย

สิ่งที่พ่อแม่ควรสอนให้เด็กเข้าใจในการเล่นอินเทอร์เน็ต

1.สอนลูกให้ควบคุมเวลาในการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างเหมาะสม มีงานวิจัยมากมายที่บอกว่าการใช้เวลากับอินเทอร์เน็ตนานๆ ไม่ว่าจะเป็น เกม โซเชียล ทำให้มีผลเสียทางสุขภาพจิต ตรงนี้ต้องมาจากพ่อแม่มีการเลี้ยงดูที่ใกล้ชิดและไม่ลืมปลูกฝังระเบียบวินัยตั้งแต่เด็ก ไม่ใช่ปล่อยเล่นตามสบาย หรือไม่มีเวลาดูแลลูก

2.สอนลูกให้มีความเห็นอกเห็นใจคนอื่นในการเล่นโซเชียล โพสต์แบบนี้คนอื่นจะมีผลกระทบอะไรบ้าง จะรู้สึกเสียใจ ไม่ให้เกียรติ ให้คิดถึงใจเขาใจเรา

3.สอนลูกให้ระวังการแชร์ข้อมูลส่วนตัวในโซเชียลมีเดีย เช่น เด็กบางคนถ่ายบัตรประชาชนตัวเองขึ้นเฟซ หรือเช็คอินแบบสาธารณะว่าอยู่ที่ไหน บอกที่อยู่ เบอร์โทร วันเดือนปีเกิดในโซเชียลมีเดีย ตรงนี้เป็นข้อมูลที่คนไม่ประสงค์ดีเอาไปหาประโยชน์ได้

4.สอนลูกว่าอย่าแชร์หรือโพสต์อะไรตอนโกรธหรือมีอารมณ์ ทุกอย่างอาจถูกแคปหน้าจอไปเป็นประวัติของเรา ที่เขาเรียกว่า Digital footprint และสิ่งที่เราแชร์มีความผิดตามกฏหมายได้ ควรสอนลูกเกี่ยวกับพรบ.คอมพิวเตอร์คร่าวๆด้วย

5.สอนลูกว่าอย่าบอกพาสเวิร์ดตัวเองกับคนอื่น แม้ว่าจะเป็นเพื่อนสนิท แฟน ก็ตาม เพราะมีตัวอย่างว่าถูกนำไปใช้เสียหายหรือหลอกลวงหลายคนแล้ว

6.สอนลูกว่าอย่าใช้ไวไฟสาธารณะเวลากรอกข้อมูลส่วนตัว เช่น ช้อปปิ้งออนไลน์ ทำธุรกรรมการเงิน ล็อคอินเข้าโซเชียลมีเดีย เพราะตรงนี้อาจถูกแฮคข้อมูลได้ ควรใช้เน็ตในมือถือ(3G/4G) จะปลอดภัยกว่า

7.สอนลูกให้รู้เท่าทันภัยคุกคามทางอินเทอร์เน็ต เช่น cyberbullying หรือการกลั่นแกล้งในอินเทอร์เน็ต และการป้องกัน หรือถ้าโดนแกล้งควรจะต้องทำอะไรบ้าง

8.สอนลูกให้รู้เท่าทันการตลาดในอินเทอร์เน็ต เช่น เทคนิคการดึงดูดให้ซื้อของ บางทีก็มีถูกหลอกให้โอนเงินไปแต่ไม่ได้ของกลับมาก็มีมาก

9.สอนลูกให้ระวังเรื่องการพนันออนไลน์ พวกนี้ชอบเด้งขึ้นมาเป็นป๊อบอัพให้เราเผลอไปกดเล่น บางทีคิดว่าลองสนุกๆ แต่เล่นนิดเดียวก็ติดได้ เพราะเด็กชอบลุ้นและลอง พวกนี้พอได้ง่ายก็อยากเล่นต่อ ก็เสียง่าย และอยากเล่นไปเรื่อยๆ

10.พ่อแม่ควรควบคุมการใช้จ่ายในอินเทอร์เน็ตของลูก ระมัดระวังกานผูกบัตรเครดิตในโทรศัพท์ลูก หรือการเติมเงินผ่านแอพการเงินต่างๆ เพราะบางครั้งเด็กเอาไปเติมเกม ซื้อของในเกมต่างๆ จนหมดเงินไปมากมาย

11.พ่อแม่ควรทำเป็นตัวอย่างในการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างรู้เท่าทัน ตามข้อต่างๆที่บอกมาแล้ว

 

ที่มา : Facebook Page เข็นเด็กขึ้นภูเขา