ที่ร้านกาเเฟแห่งหนึ่ง เด็กชายวัยหัดเดิน พุ่งตัวเข้ามาในร้านอย่างรวดเร็ว และอย่างที่คาดไว้ เด็กชายถลาไปชนโต๊ะกาแฟตัวหนึ่งในร้าน เสียงร้องไห้ของเด็กน้อยทำเอาคุณปู่คุณย่าที่เดินตามหลานเข้ามารีบเข้าไปปลอบประโลมหลานชายของตน

“โอ๋ๆ ไม่ร้องนะ ไหนเจ็บตรงไหน ใครทำ?” ฝ่ายคุณย่าพูดขึ้น
“เดี๋ยวปู่ตีโต๊ะให้ โต๊ะมันทำ…ล้มใช่มั้ย นี่แหน่ะ!” ฝ่ายคุณปู่พูดขึ้น พร้อมกับยกมือตีไปที่โต๊ะที่เด็กชายเดินชน

ในเหตุการณ์นี้ “โต๊ะไม่ใช่คนร้าย” เพราะโต๊ะก็คือโต๊ะ และ “ไม่มีใครผิด” อีกเช่นกัน เพราะเป็นอุบัติเหตุแต่สิ่งที่ผู้ใหญ่กำลังสอนเด็ก คือ

“การหาคนผิดคือสิ่งสำคัญ และการโทษคนอื่นก่อนจะมองกลับมาที่ตัวเอง”

ผลเสีย คือ เด็กจะไม่สามารถรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเองได้ เด็กจะไม่ได้เรียนรู้ว่า “สิ่งที่ตนทำ ตนต้องรับผิดชอบผลลัพธ์ของการกระทำที่เกิดขึ้น”

สิ่งที่จะบ่งบอกว่าเด็กคนนี้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดี ไม่ใช่อายุที่มากขึ้น แต่เป็นความสามารถในการรับผิดชอบต่อตนเอง และสังคมได้มากขึ้นต่างหาก ดังนั้น เวลาเด็กล้ม (เพราะอุบัติเหตุ) ผู้ใหญ่เข้าไปปลอบได้ แต่วิธีการปลอบไม่ใช่ “การหาคนหรือสิ่งผิด” แล้วทำโทษสิ่งนั้นให้เด็กดู เช่น เด็กชนโต๊ะแล้วล้มลง ผู้ใหญ่ไม่ควรปลอบเด็กด้วยการไปตีโต๊ะ

สิ่งที่ผู้ใหญ่ควรทำคือ…

1. อย่าแสดงสีหน้าหรือท่าทางที่ตกใจจนเกินเหตุ เพราะบ่อยครั้งเด็กไม่ได้เจ็บมากมาย แต่เขาตกใจเพราะสีหน้าท่าทางของเรามากกว่า
2. ดูว่าเด็กบาดเจ็บมากไหม ถ้าไม่มาก เราช่วยเขาลุกขึ้น หรือ ในเด็กที่โตขึ้นมาหน่อยให้เขาฝึกลุกเอง
3. ถ้ามีบาดแผล หรือ ต้องทำแผล ก็พาเขาไปทำแผล ไม่ต้องตามหาคนผิดแต่อย่างใด เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นอุบัติเหตุ
4. ชมเชยเด็ก หากเขาลุกขึ้นมาเอง ไม่ร้องไห้ ชมเขาว่า “ลูกเก่งจังเลย ลุกขึ้นเองได้”
ถ้าเด็กร้องไห้หนัก ไม่ยอมลุก กอดเขาแน่น ชี้ชวนให้เขาดูว่า ไม่มีอะไรต้องตกใจ ทุกคนล้มได้ เป็นเรื่องธรรมดา ค่อยๆ ฉุดเขาลุกขึ้น
5. ไม่ต้องโทษสิ่งของ ไม่ต้องโทษใคร แม้แต่ตัวเด็กเอง เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องธรรมดา เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเติบโต

สุดท้าย ได้โปรดอย่าทำร้ายโต๊ะ ให้โต๊ะได้เป็นโต๊ะ และอย่าทำร้ายเด็ก ให้เขาได้เรียนรู้ความผิดพลาดของตน แล้วลุกขึ้นด้วยตนเอง
เพื่อวันหนึ่งข้างหน้าเมื่อเขาผิดพลาด เขาจะรับผิดชอบต่อผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นได้ โดยไม่โทษใคร

เกร็ดสาระทางจิตวิทยา หนึ่งในกลไกป้องกันตัวเอง (Defense Mechanism) เรียกว่า “การโทษผู้อื่น (Projection)” หมายถึง การโยนความรู้สึกหรือความต้องการที่ตนเองรับไม่ได้ให้เป็นของผู้อื่น เช่น ไม่ชอบเพื่อนคนนี้ จึงเกิดความรู้สึกว่า เพื่อนคนนี้ไม่ดี ไม่ชอบตน ตนเลยไม่ชอบตอบ ทั้งๆ ที่เขาอาจจะไม่ได้ทำอะไรเลย หรือ นักฟุตบอลเตะบอลแพ้ ก็อาจจะบอกว่า เป็นเพราะวันนี้ลูกบอลไม่ดี การเตะครั้งนี้จึงไม่ดี

 

Cr. Facebook Page เพจตามใจนักจิตวิทยา