I message ถูกจัดให้เป็นวิธีการสื่อสารที่ทรงประสิทธิภาพรูปแบบหนึ่ง เป็นการสื่อสารที่ทำให้คนฟังสามารถ “รับฟัง” และลดการ “ต่อต้าน” ด้วยอารมณ์ได้เป็นอย่างดี
หลักการคร่าวๆ คือ การสื่อสารที่พูดถึง “ความคิดและความรู้สึก” ของ “ตัวผู้พูดเอง” ต่อ “พฤติกรรม” ของคนฟัง โดยหลีกเลี่ยงการตำหนิ การหาคนผิด เพื่อลดการใช้อารมณ์และการปกป้องตนเอง ที่มักทำให้สิ่งที่ต้องการสื่อ เข้าไปได้ไม่ถึงใจ ลองดูประโยคเหล่านี้…
“ขี้เกียจจริงๆเลย เล่นแล้วก็ไม่เก็บ” กับ”แม่อยากให้หนูเก็บของเล่นให้เรียบร้อยด้วยจ้ะ”
“นิสัยเสีย พูดจาแบบนี้กับพ่อแม่ได้ยังไง” กับ”แม่เสียใจเวลาที่ได้ยินคำพูดที่ไม่ดี แม่อยากให้เราระวังคำพูดกันจะได้ไม่ทำให้ใครต้องรู้สึกไม่ดี”
“ถ้าพูดจาแย่ๆแบบนี้อีกที แม่จะไม่คุยด้วยละนะ” กับ”แม่เสียใจเวลาได้ยินคำพูดที่ไม่ดี แม่อยากจะคุยกับคนที่พูดจากันดีๆ มากกว่า”
“ทำไมป่านนี้ยังไม่อาบน้ำอีก” กับ”แม่อยากให้ลูกไปอาบน้ำได้แล้ว เราจะได้รีบไปธุระกัน”
“ทำไมโทรไปไม่รับ” กับ”พ่อติดต่อลูกไม่ได้เลย””ทำไมกลับบ้านดึกดื่นไม่รู้จักโทรบอก” กับ”แม่เป็นห่วง ที่ดึกแล้วลูกยังไม่กลับ น่าจะดีถ้าครั้งหน้าลูกจะโทรบอกแม่หน่อย แม่จะได้ไม่ต้องเป็นห่วง”
จะเห็นว่าประโยคทั้งสองมีจุดมุ่งหมายคล้ายกัน แต่เห็นด้วยมั้ย ว่าฟังแล้ว “รู้สึกแตกต่างกัน” ประโยคแบบนี้นี่แหละที่จะทำให้ลูก “ฟัง” เราด้วย “อารมณ์” ที่แตกต่างและเมื่ออารมณ์ไม่แย่ ไม่ต้องวุ่นวายกับการปกป้องตนเองตามสัญชาติญาณ การ “รับฟัง” จนอยากจะสื่ออะไรให้ถึงกัน คนฟังก็จะรับมันได้ง่ายดายมากขึ้น
รักลูก… ลองฝึกใช้ I message มันอาจดูไม่ง่าย เพราะไม่ใช่อะไรที่เราคุ้นชินแต่ถ้าทำได้ เราจะเห็นผลลัพธ์ที่ดีกว่าอย่างน่าอัศจรรย์จริงๆ
Cr.หมอโอ๋เพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน