วัยรุ่น เป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน และสมองส่วนกลางที่ทำงานในเรื่องของอารมณ์พัฒนาเต็มที่ ทำให้หลายครั้งเราจะเห็นท่าทีหรืออารมณ์เด็กวัยรุ่น ค่อนข้างรุนแรง หุนหุนพลันแล่น ยากที่จะควบคุมอารมณ์ได้ แต่นั่นคือพัฒนาการของวัยรุ่นปกติ เป็นสัญญาณที่จะทำให้วัยรุ่นพัฒนาก้าวเข้าไปสู่วัยผู้ใหญ่ในอนาคตได้ดีหากผู้ใหญ่เข้าใจ

จะทำอย่างไรให้พ่อแม่ได้พูดคุยกับลูกวัยรุ่นได้อย่างเข้าใจซึ่งกันและกัน สิ่งสำคัญคือท่าทีของพ่อแม่ผู้ปกครองจะต้องเปลี่ยนแปลงไป จากความเป็นพ่อแม่ไปสู่ความเป็นเพื่อน เพราะวัยรุ่นจะรู้สึกว่าการแสดงออกของพ่อแม่ที่ให้ลูกรู้สึกว่าพ่อแม่รักเขาแตกต่างจากช่วงวัยเด็กเล็ก และวัยประถม คือวัยเด็กเล็ก(ฐานกาย) จะรู้สึกว่าพ่อแม่รักเขาก็ต้องมีโอบกอดสัมผัส ส่วนวัยประถม(ฐานใจ)จะต้องใช้เวลาทำกิจกรรมร่วมกันกับลูก ส่วนวัยรุ่นจะต้องให้เวลาในการรับฟังสิ่งที่ลูกพูดลูกคิด (ฐานคิด) อย่างน้อยวันละครึ่งชั่วโมง

บทบาทของพ่อแม่ คือผู้สอน ผู้พูด แต่จริงๆแล้วไม่ว่ากับลูกวัยไหน บทบาทของพ่อแม่ต้องปรับเปลี่ยนจากผู้พูดมาเป็นผู้ฟังบ้าง โดยเฉพาะกับลูกวัยรุ่นที่ต้องการให้คนเข้าใจและยอมรับฟังความคิด ความรู้สึกของพวกเขาบ้าง ซึ่งไม่แตกต่างจากผู้ใหญ่เวลาเกิดเรื่องไม่สบายใจ ก็ต้องการคนรับฟังเช่นกัน

นอกจากสัมพันธภาพที่ดีที่เป็นพื้นฐานในการที่เด็กจะเข้ามาพูดคุยเล่าเรื่องต่างๆให้ฟังแล้ว การฟังให้ถึงความรู้สึกของลูกก็เป็นส่วนสำคัญถ้าพ่อแม่ทำได้ เพราะเหตุใดการฟังให้ถึงความรู้สึก จึงมีความสำคัญ

เพราะทำให้ลูกรู้ว่ามีคนเข้าใจเขา
ช่วยทำให้ลูกคิดว่าลูกกำลังรู้สึกอย่างไร และเพราะอะไรจึงรู้สึกเช่นนั้น ซึ่งเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่อไปได้
ลูกรู้สึกว่าเขาสามารถพูดคุยเกี่ยวกับความรู้สึกกับพ่อแม่ได้

การฟังให้เข้าถึงความรู้สึกฟังอย่างไร

ฟังอย่างตั้งใจ ให้หยุดสิ่งที่กำลังทำในขณะนั้น โน้มตัวไปข้างหน้า นั่งใกล้ๆลูก มองหน้าลูก เพื่อให้เด็กรู้สึกว่าพ่อแม่ตั้งใจฟังเขาจริงๆ
ได้ยินความรู้สึกของลูก ฟังคำพูดลูก พยายามจับความรู้สึกของลูก ว่า ขณะนี้ลูกกำลังรู้สึกอย่างไร เพราะอะไรลูกจึงรู้สึกเช่นนั้น (จากเรื่องที่ลูกเล่า)
ฟังแบบกระจกสะท้อน เป็นการสะท้อนความรู้สึกและสิ่งที่ลูกพูด “ลูกรู้สึกน้อยใจเพื่อน ที่ไม่ชวนลูกไปเที่ยว” หากลูกไม่สามารถบอกความรู้สึกได้อย่างตรงไปตรงมา อาจใช้การค้นหาความรู้สึกของลูกร่วมด้วย โดยอาจสังเกตสีหน้าท่าที ซึ่งเป็นภาษากาย ว่าขณะนี้กำลังรู้สึกอย่างไร “ดูลูกยิ้มแย้มแจ่มใส ลูกคงมีความสุขมากๆเลยนะ” ซึ่งเป็นการเคาะประตูให้ลูกเปิดการพูดคุยกับพ่อแม่

นอกจากการฟังให้ถึงความรู้สึกแล้ว ก็ควรมีการตั้งคำถามให้เด็กได้คิด และทบทวนว่าเด็กจะทำอย่างไรหรือจะแก้ปัญหานี้ต่อไปอย่างไร ซึ่งเป็นสิ่งที่เด็กวัยรุ่นรู้สึกว่าพ่อแม่ให้เกียรติ ยอมรับฟังความคิดเห็นของลูก “ลูกจะตัดสินใจเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไรดีจ๊ะ” แต่ถ้าเด็กยังไม่สามารถตัดสินใจได้ ก็ควรมีข้อมูลและทางเลือกต่างๆให้เด็กเลือกเอง เพราะเด็กจะต้องรับผิดชอบกับความรู้สึก ความคิด การตัดสินใจของเขาเอง สิ่งสำคัญอีกอย่างคือ การเข้าใจพัฒนาการวัยรุ่น ทั้งร่างกายที่เปลี่ยนไป ความชอบแบบวัยรุ่นที่อาจจะสร้างความปวดหัวให้กับพ่อแม่ ถ้ารู้สึกยากที่จะยอมรับ ลองทบทวนดูว่า

“คุณพ่อคุณแม่ก็เคยเป็นวัยรุ่น” มาก่อนเช่นกัน บางทีอาจจะไม่แตกต่างจากลูกเลยก็ได้

 

 

ที่มา : http://www.thaichildrights.org