ในวัยเจริญเติบโต เกิดจากช่วงเด็กเล็ก (2-3 ขวบ) ที่อยู่ในวัยที่เริ่มแสดงความสามารถและต้องการการยอมรับ สนับสนุน และ การเห็นคุณค่าจากคนสำคัญ ครอบครัว และ สังคม แต่กลับไม่ได้รับความรู้สึกดีๆ เหล่านี้ แต่ไปได้ การถูกด่าว่า ตำหนิ ติเตียน ล้อเลียน ทำให้อับอาย หรือมีท่าทีไม่ยอมรับ ท่าทีดูถูก เหยียดหยาม หรือ ถูกบังคับ ควบคุม ข่มขู่ ถูกทำร้าย (child abuse) หรือ การถูกทอดทิ้ง การถูกหมางเมิน จนเด็กไม่รู้สึกถึงคุณค่าของสิ่่งที่ตนเองทำ สิ่งที่ตนเองมี สิ่งที่ตนเองเป็น จนเกิดความรู้สึกต่ำต้อย ด้อยค่า ไม่มั่นใจในตนเอง สงสัยในความสามารถ สงสัยในคุณค่าตนเอง (doubt) และรู้สึกอับอาย (shame) เหมือนตนเองมีรอยตำหนิ ที่น่าอับอายอยู่ในตัว (เป็นแผลที่มองไม่เห็นด้วยตา แต่รู้สึกได้ด้วยใจ)

ความรู้สึกอับอายและความสงสัยในตนเอง เป็นความรู้สึกที่ฝังลึก เป็นบาดแผลที่กรีดลึกมากในใจ เมื่อเติบโตขึ้น มีเหตุการณ์ที่สะกิดว่าเขาไม่มีความสามารถ ไม่เป็นที่ยอมรับ หรือเขาไม่มีค่า หรือ มีเหตุการณ์ที่ต้องลุ้นการได้รับการยอมรับ หรือถูกวิพากษ์วิจารณ์ เขาจะรู้สึกเจ็บปวดได้ไวมาก รู้สึกกังวลได้มาก จิตตกได้ง่าย ไร้เรี่ยวแรงในการสู้ชีวิต และมักมองไปในแง่ลบก่อนว่า คนอื่นจะเห็นความไม่ดีของเขา เห็นความน่าเกลียดของเขา เห็นรอยตำหนิของเขา เห็นความไม่น่ารักของเขา เห็นเขาไม่มีค่า เนื่องจาก เขามีความเชื่อลึกๆว่า เขาเป็นของมีตำหนิ เขาไม่ดี เขาไม่มีคุณค่า เขาไม่น่ารัก และ สารพัดที่จะรู้สึกด้านลบกับตนเอง

แนวทางการดูแลตัวเองเมื่อรู้สึกอับอาย

1. ความเมตตาต่อตนเอง (self-compassion)

เปลี่ยนความรู้สึก อับอาย เป็น ความรัก และ เมตตาตนเอง หมั่นเติมความพลังความรัก ความรู้สึกอบอุ่น ให้ตนเองในทุกวัน เช่น การยิ้มให้กับตนเอง การกอดตนเอง การหมั่นดูแลตนเอง การให้สิ่งดีๆ กับตนเอง

2. หมั่นมีสติ-รู้ทัน ความรู้สึก-นึกคิด-มุมมองที่มีต่อตนเอง (self-awareness)

รู้ทัน “การตำหนิติเตียนตนเอง” (self-criticism) และ หยุด
รูัทัน “ความคิดว่าตนเองยังไม่ดีพอ” (inadequate) และ หยุด
รู้ทัน “การพยายามพิสูจน์ตนเองว่าดีพอต่อผู้อื่น” และหยุด
รู้ทัน “การมักมองเห็นตนเองในแง่ลบ” และ หยุด

3. สร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อตนเอง

หมั่นกลับมาเชื่อมโยงกับคุณค่าของตนเอง เชื่อมโยงกับความปรารถนาที่แท้จริงของตนเอง หมั่นรู้ใจตนเองมากขึ้น รูัจักตนเองมากขึ้น ยอมรับธรรมชาติของตนเอง รู้จักข้อดี ศักยภาพในตนเอง และพัฒนาให้ดีขึ้น ยอมรับและแก้ไขข้อเสียของตนเอง พูดถึงตนเองในแง่ดี

4. หมั่น รู้ทัน “การอยากได้การยอมรับจากคนอื่น”

เพื่อเป็นข้อพิสูจน์ว่า “เราดีพอ” และ หยุด “พิสูจน์ตนเองเพือให้คนอื่นยอมรับ” แต่ลุกขึ้น “ทำสิ่งที่เรารู้สึกว่ามีคุณค่า” ด้วยความรู้สึกของตนเองจริงๆ ไม่ใช่เพื่อให้คนอื่นยอมรับเรา (การคอยพิสูจน์ตนเอง ด้วยการวัดเรตติ้งความพึงพอใจจากคนอืน ไม่เคยทำให้รู้สึกดีพอได้อย่างแท้จริง เหมือนหลุมที่ถมเท่าไหร่ก็ไม่เต็ม)

5. สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่น

เมื่อมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่น จะช่วยลดงานมโนว่าคนอื่นจะรู้สึกแย่กับเรา

 

ที่มา : สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย