คุณหมอ เจ้าของ Facebook Page เข็นเด็กขึ้นภูเขา ได้เขียนอธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า ในวันๆหนึ่ง อาจจะมีหลายๆครั้งที่พ่อแม่ตะโกนใส่ลูก ทั้งตอนปลุกให้ตื่นตอนเช้า ตอนรอเวลากินข้าวให้เสร็จ ตอนออกจากบ้านไปเรียน ตอนกลับบ้าน ตอนที่กำลังทำการบ้าน และเหตุการณ์คลาสสิคที่มักจะเกิดขึ้นในเวลาทำการบ้าน

ฉากประมาณว่า แม่กำลังสอนการบ้านลูกตอนเย็นหลังกลับจากโรงเรียน ลูกทำไม่ได้ ทำผิดซ้ำซาก แม่ก็หงุดหงิดที่ลูกทำผิด เพราะเคยสอนแล้ว หลายรอบด้วยนะ แต่ทำไมยังผิดอีก พยายามจะใจเย็นแล้ว แต่สุดท้ายแม่ก็โกรธจนต้องตะโกนออกมา “โอ๊ย แม่ไม่ไหวแล้วนะ ทำไมสอนกี่รอบก็ลืม เบื่อจะแย่ ไม่ต้องเรียนมันแล้ว” พอตะโกนเสร็จแล้ว เหตุการณ์ต่อไปมักจะเป็นแบบนี้

เด็กบางคนก็จะตะโกนกลับ และก็กลายเป็นตะโกนใส่กัน สุดท้ายอาจจะมีการลงไม้ลงมือ ผู้ใหญ่ตี แล้วเด็กก็ร้องไห้ หรือว่าเด็กบางคนก็อาจจะเม้มปาก ขมวดคิ้ว กดดินสอหนักๆ จนกระดาษขาด แม่ก็ยิ่งโกรธ แล้วเด็กก็ตะโกนออกมาว่า “ไม่ทำแล้วโว้ย” เดินกระแทกเท้าออกไป
จริงอยู่ว่า มีเด็กบางคนที่หลังจากได้ยินแม่ตะโกน จะตั้งใจทำมากขึ้น แต่ถ้าดูสีหน้าเด็ก จะเหมือนเวลาเราเห็นผลไม้เน่าค้างในตู้เย็น ก็คือ หน้าเด็กจะบูดบึ้ง บอกบุญไม่รับ ผลจากการตะโกนส่วนใหญ่ไม่มีใครชอบ ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ที่จะตะโกนใส่ลูกก็หงุดหงิดมากขึ้น ไม่ชอบที่ตัวเองตะโกนแบบนั้น ใช่ว่าตะโกนแล้วจะสบายใจ ส่วนลูกก็ไม่ชอบให้พ่อแม่ตะโกนใส่ ลองคิดถึงเราเอง ถ้าผู้ใหญ่ไม่ชอบให้ใครมาทำเสียงดังๆใส่ เด็กก็คงจะไม่แตกต่างกันเท่าไหร่

พ่อแม่เกือบทั้งหมดไม่มีใครที่ชอบตะโกนใส่ลูก แต่ว่ามันอดไม่ได้จริงๆ ควบคุมไม่ได้ “คิดได้แต่ทำไม่ได้” เป็นความจริงที่เจ็บปวด แล้วจะทำยังไงที่จะไม่ต้องตะโกนใส่ลูก ซึ่งมีเทคนิค ดังนี้

1. ความตั้งใจ บอกตัวเองว่า “วันนี้ฉันจะไม่ตะโกน”

2. เตรียมตัว ให้พร้อม มองดูอารมณ์ของตัวเองขณะนั้น ก่อนที่เราจะเข้าไปหาลูก พ่อแม่เดี๋ยวนี้ไม่ได้มีความเครียดแค่เรื่องลูก เรื่องแย่ๆที่ทำงาน ความขัดแย้งกับคนในบ้านคนอื่น และเรื่องร้อยแปด ที่ทำให้วันๆเราอารมณ์บ่อจอย ถ้าเราอารมณ์ไม่ดีอยู่ เป็นไปได้ อย่าเพิ่งเข้าไปหาลูก เพราะเราอาจจะเผลอนำความหงุดหงิดไปลงที่ลูกได้ง่ายๆ ทั้งที่เราเองก็ไม่ได้ตั้งใจ

3. ผ่อนคลายตัวเองให้รีแลกซ์ก่อนที่จะเข้าไปหาลูก อาจจะไปอาบน้ำ ล้างหน้า ดื่มน้ำเย็นๆ

4.ตอนที่อยู่กับลูก พึงระลึกไว้ว่า ถ้าเราไม่ชอบอะไร ก็อย่าทำแบบนั้นกับ ลูก เช่น ตะโกน ประชด เปรียบเทียบ ว่าแรงๆ เช่น “ทำไมไม่สอนไม่จำ” “ลูกใครเนี่ย” “ทำไมเพื่อนเค้ายังทำได้มากกว่าอีก เรียนเหมือนๆกัน” “สมองมีไหม”

5. เตรียมใจไว้ก่อนเลยว่าเดี๋ยวอาจจะมีเหตุการณ์ที่ทำให้เราโกรธ การที่เราเตรียมใจไว้ก่อนจะทำให้อารมณ์โกรธหงุดหงิดของเราลดลงบ้าง

6.ถ้าอยู่กับลูกแล้วรู้สึกว่าความโกรธหงุดหงิดมันกำลังมาแล้ว ให้เราเตือนตัวเองว่า มันมาแล้ว หาวิธีจัดการกับความโกรธให้ได้ผล เช่น หายใจเข้าออกลึกๆ ออกมาจากตรงนั้นก่อน เย็นลงแล้วเข้าไปสอนใหม่

7.ลูกจะเรียนรู้จากการกระทำของเราเราต้องยอมรับก่อนว่าอารมณ์โกรธหงุดหงิดเป็นเรื่องธรรมชาติแต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือ การจัดการกับอารมณ์โกรธหงุดหงิดนั้น เพราะฉะนั้น หากเราตะโกน เขาก็จะตะโกนบ้าง อยากให้ลูกพูดดีๆ เราต้องพูดดีๆกับลูก การกระทำเป็นแบบอย่างที่สำคัญ ให้ลูกเรียนรู้ว่าโกรธได้หงุดหงิดได้(เป็นอารมณ์ความรู้สึกปกติ) แต่ไม่จำเป็นต้องตะโกนหรือทำอะไรที่รุนแรง

 

ที่มา : Facebook Page เข็นเด็กขึ้นภูเขา