พ่อแม่คงสงสัยใช่ไหมว่าถ้าอยากให้ลูกได้เรียนรู้นิทาน ทำนองเพลงสนุกๆ หรือการฝึกทักษะต่างๆ ผ่านทางโทรศัพท์มือถือ หรือทางแท็บเล็ต ควรจะให้ลองได้ลองใช้เมื่ออายุเท่าไหร่ดี ซึ่งงานวิจัยของผู้เชี่ยวชาญทางด้านเด็กของสหรัฐอเมริกา ได้ชี้ให้เห็นว่า ช่วงระยะเวลาที่เหมาะสมในการเริ่มเล่นสมาร์ทโฟนคือ เด็กต้องมีอายุ 2 ปี ขึ้นไป ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
1. บั่นทอนศักยภาพการเรียนรู้ของเด็ก ช่วงทารกจนถึง 2 ขวบ สมองของเด็กกำลังเติบโตเป็น 3 เท่า โดยมีสิ่งแวดล้อมจะเป็นตัวกระตุ้น หากลูกน้อยอยู่กับเทคโนโลยีอย่างแท็บเล็ต สมาร์ทโฟน โน๊ตบุ๊ต หรือแม้แต่หน้าจอโทรทัศน์มากเกินไป จะทำให้ประสิทธิภาพในการเรียนรู้ลดลง แถมยังมีทำให้เป็นโรคสมาธิสั้น เอาแต่ใจตัวเองมากขึ้น เพราะควบคุมตัวเองได้น้อยลงนั่นเอง
2. เด็กเคลื่อนที่น้อยลง เมื่อเด็กอยู่กับหน้าจอมากๆ ก็จะทำให้เด็กเคลื่อนที่น้อยลง เพราะมัวแต่จดจ่ออยู่กับการใช้เทคโนโลยี ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อการพัฒนาอวัยวะต่างๆของร่างกายเด็ก ผลวิจัยชิ้นหนึ่งเผยว่า 1 ใน 3 ของเด็กที่ถึงวัยเข้าเรียนมีพัฒนาการทางร่างกายล่าช้ากว่า มีผลต่อการเรียนรู้ การอ่านออกเขียนได้ เนื่องจากสมาร์ทโฟนมีส่วนปิดกั้นกระบวนการเรียนรู้ของเด็ก
3. ทำให้ตาเด็กเกิดอาการเมื่อยล้า เมื่อเด็กอยู่กับเทคโนโลยีมากเกินไป ส่งผลให้เด็กใช้สายตาเพ่งดูจอสมาร์ทโฟนต่อเนื่อง ซึ่งอาจทำให้เด็กเกิดอาการตาล้าหรืออักเสบภายในหลังได้
4. พัฒนาการด้านอื่นๆ ช้าลง เด็กที่ติดสมาร์ทโฟนไม่ได้ใช้เวลาที่มีพัฒนาทักษะอื่นๆเท่าที่ควร เช่น ไม่ได้ฝึกการใช้นิ้วหยิบจับสิ่งของ และการก้มคอมองจอสมาร์ทโฟนถือเป็นท่าผิดหลักธรรมชาติ
5. นอนน้อย หรือนอนดึก เด็กที่ใช้สมาร์ทโฟนในห้องนอนของตัวเองได้ จะนอนน้อยลง เนื่องจากสามารถเล่นอุปกรณ์นั้นได้ตามใจชอบ เพราะไม่อยู่ในสายตาของผู้ใหญ่ ส่งผลให้เด็กอดนอน และมีอาการอ่อนเพลียตามมาภายหลัง
6. เกิดปัญหาด้านอารมณ์ การติดสมาร์ทโฟนจะส่งผลกระทบต่อจิตใจของเด็ก โดยเด็กอาจมีอาการหดหู่หรือกระวนกระวาย เป็นโรคสมาธิสั้น มีปัญหาในการควบคุมอารมณ์ หรือเป็นโรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar disorder) เหล่านี้เป็นต้น
7. เป็นจุดเริ่มต้นของการใช้ความรุนแรง เด็กบางคนอาจเห็นภาพการใช้ความรุนแรงผ่านสื่อบนสมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ตจากการ เกมส์ หรือภาพยนตร์ที่ดาวน์โหลดใส่เครื่อง คลิปวีดีโอผ่ายยูทูป ก็อาจส่งผลให้เด็กมีพฤติกรรมก้าวร้าวมากยิ่งขึ้นในอนาคต
8. อาจเป็นโรคสมองเสื่อมดิจิตอล (Digital dementia) โดยเด็กที่เป็นโรคนี้ไม่สามารถเรียนรู้หรือให้ความสนใจกับสิ่งใดได้ สาเหตุนั้นมาจากความรวดเร็วของเนื้อหาบนสื่ออย่างสมาร์ทโฟน ทำให้เด็กจดจ่อกับสิ่งรอบตัวน้อยลง รวมไปถึงลดการใช้สมองในส่วนของความจำ และอาจเป็นสาเหตุของโรคสมาธิสั้น
9. เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งตั้งแต่เด็ก องค์การอนามัยโลก (World Health Organization) จัดให้มือถือรวมถึงอุปกรณ์ไร้สายอื่นๆ อยู่ในหมวดหมู่ของความเสี่ยงระดับ 2B (2B risk) คือ มีความเป็นไปได้ที่จะทำให้เกิดมะเร็ง เนื่องจากมีการปล่อยรังสีออกจากตัวเครื่อง ดังนั้น เด็กที่ติดสมาร์ทโฟนมีความเสี่ยงที่จะได้รับรังสีที่ก่อให้เกิดมะเร็งตามไปด้วย
วิธีแก้ปัญหาลูกติดสมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ต
- พยายามหากิจกรรมอื่นให้เด็กทำ เพื่อลดการเล่นสมาร์ทโฟน เช่น การวาดภาพ ออกกำลังกาย กิจกรรมกลางแจ้ง โดยเน้นกิจกรรมที่ได้ขยับส่วนต่างๆ ของร่างกาย
- กำหนดระยะเวลาที่เด็กสามารถเล่นสมาร์ทโฟนได้ในแต่ละวันไว้ให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้เด็กเล่นสมาร์ทโฟนจนเกินพอดี
- ใช้เวลาอยู่กับครอบครัวเพิ่มขึ้น และอาจตั้งกฎให้ใน 1 วันต่อสัปดาห์ เป็นวันงดใช้สามร์ทโฟนครึ่งวัน
- งดการเล่นสมาร์ทโฟนในระหว่างการรับประทานอาหาร โดยพ่อแม่ควรทำเป็นแบบอย่างด้วย
- ไม่ควรอนุญาตให้เด็กเล่นสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตช่วงก่อนเข้านอน และไม่ควรเก็บไว้ในห้องนอนของเด็กเป็นอันเด็ดขาด เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กแอบเล่นสมาร์ทโฟนทั้งก่อนนอนหรือหลังตื่นนอนในทันที
ที่มา: https://th.theasianparent.com